Smartphone Addiction ชีวิตพังเพราะ ติดโทรศัพท์

0
3687
ติดโทรศัพท์ วางมือจาก Smartphone ไม่ได้ เล่นแต่โซเชียลมีเดีย จนไม่มีเวลาให้ครอบครัว การงานเสีย ความสัมพันธ์กับแฟนไม่ดี ฯลฯ ปัญหาใหญ่ใกล้ตัวของคนยุค 4.0
(Last Updated On: November 4, 2019)
โรคไม่ติดต่อที่น่ากลั๊ว น่ากลัว ของคนยุคใหม่

อะไรเอ่ย Smartphone Addiction 


ต้องยอมรับกันแต้โดยดี ว่า Smartphone ในปัจจุบัน เป็นอวัยวะสำคัญของใครหลายๆ คนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (อย่างน้อยๆ ก็มากกว่าไส้ติ่ง) มันไม่ได้มีดีแค่โทรเท่านั้น แต่ยังต้องใช้ทำงาน ค้นหาข้อมูล ดูหนัง คลายเครียด บลา บลาา บลาาาา

แต่เพื่อนๆ รู้หมือไร่ ทุกๆ ครั้งมีการหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาใช้งาน เท่ากับว่าเรากำลังถูกหั่นออกจากโลกแห่งความเป็นจริง!!! ไม่ได้ Interact กับคนรอบข้าง ทั้งๆ ที่นั่ง(แทบจะขี่คอ)อยู่ด้วยกัน  แต่กลับไม่มีการโต้ตอบใดๆ เอาแต่สไลด์ฟีดข้อมูลบน Facebook เผลอแปปเดียวแยกย้ายกันกลับบ้าน ได้คุยกันจริงๆ ไม่กี่ประโยค….

หนักกว่านั้น บางคนถึงขนานควบคุมตัวเองไม่ได้ ต้องมีโทรศัพท์ติดตัวไว้คอยเช็ค email line หรือ Instagram อยู่ตลอด เปิดวนไปวนมา ดูแล้วดูอีก ทั้งที่ไม่ได้มีธุระสำคัญอยู่ในนั้น จนไม่เป็นอันทำงานทำการ Focus อะไรนานๆ ไม่ได้ แฟนก็เริ่มตีตัวออกห่าง ——– ก่อนที่ปัญหาทั้งหมดจะเกิดขึ้นจริง จะดีกว่าไหม ถ้าเพื่อนๆ สามารถรู้ทันมือถือ และใช้มันให้เกิดประโยชน์ ไม่มีพิษมีภัยกับเราและครอบครัว /// เกริ่นมายืดยาวซะขนาดนี้ ถึงเวลาสมควรแล้ว ที่เรา จะได้รู้จักกับโรคติดสมาร์ทโฟนกันมากขึ้น 

โรคติดโทรศัพท์ สมาร์ทโฟน มือถือ (จะเรียกอะไรก็ช่างเอาเป็นว่าความหมายเดียวกัน) หรือที่ผู้มีความรู้เรียกกันว่า “Nomophobia” (อาการหวาดกลัวที่อยู่แบบไม่มีมือถือ) มักเกิดขึ้นกับคนที่ชอบเล่นอินเตอร์เน็ต ซึ่งความรุนแรงของมันค่อนข้างมีหลายระดับ ตั้งแต่ที่สามารถจัดการด้วยตนเอง ไปถึงขั้นที่ต้องให้จิตแพทย์หรือคุณหมอมาเป็นตัวช่วย

โดยสาเหตุของแต่ละคนนั้น ค่อนข้างแตกต่างกันตามสปีชีส์ ขึ้นอยู่กับปัญหาที่เจอ แต่โดยหลักๆ แล้ว มักไม่พ้นจาก 4 ประเภทนี้

  1. ถูกกระตุ้นให้เกิดความสัมพันธ์ที่จับต้องไม่ได้ (Virtual relationships) ทั้งจากตัว Apps Social media และ Messenger โดยเพื่อนๆ จะรู้สึกว่า โลก Online มีสำคัญมากกว่าคนที่อยู่ตรงหน้า (ดูได้จากโต๊ะอาหาร ที่ทุกคนเอาแต่กดโทรศัพท์) เพราะมันไม่มีเรื่องที่ทำให้ต้องปวดหัว ไม่มี Follower คนไหน เรียกร้องให้ไปเข้าห้องน้ำด้วยกัน ทั้งที่เราก็ยังไม่ปวด ไม่โดนงอนเพราะลืมวันสำคัญ
  2. ข้อมูลล้นสมอง (Information overload) จากการที่เพื่อนๆ เข้าดูเว็ป….(ข่าว) ฟีดข้อมูล วีดีโอเกม ฯลฯ เยอะเกินความจำเป็น จนหมดพลังงานในการทำงานหรือเรียนในปัจจุบัน บางครั้งถึงขั้นเพิกเฉยต่อคนรอบข้าง ได้ยินอะไรมาเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาแบบจับใจความไม่ทัน ละเลยการร่วมกิจกรรมและสร้างความสัมพันธ์กับคนใกล้ตัว ทั้งครอบครัว และเพื่อนๆ
  3. เข้าถึงสื่อลามกง่ายขึ้น (Cybersex addiction) ทั้งเสียง รูปภาพ และคลิปวีดีโอ เวลาส่วนมากจึงหมดไปกับการจินตนาการ ที่ไม่มีทางเกิดขึ้นจริงในโลกปัจจุบัน รวมไปถึงการใช้แอปฯ หาคู่ ที่ไม่ช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ในระยะยาว ทั้งยังทำลายความสัมพันธ์เดิมที่มีอยู่เดิม (พ่อบ้านทั้งหายฟังไว้ให้ดี)
  4. ถูกบังคับทางอ้อม (Online compulsions) ให้เพื่อนๆ ลงมือทำบางอย่างบนโลก Online แบบไม่จำเป็น เช่น ซื้อเสื้อหนาวที่กำลังลดในฤดูร้อน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ใช้แน่ๆ  ขายหุ้นที่กำไรตก พนันบอลที่กำลังจะเตะ ฯลฯ โดยปราศจากการยั้งคิด (เอามันไว้ก่อน เรื่องเงินไว้ทีหลัง) ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา 

ติดโทรศัพท์ ก็เหมือนติดยา


การใช้ smartphone ที่มากเกินไป นอกจากจะทำให้ความสัมพันธ์กับคนรอบตัวดรอปลง ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อสมองและอารมณ์ของเพื่อนๆ ทำให้เกิดความเครียดและความกังวล โดยเฉพาะกับคนที่ชอบใช้มันเป็นเครื่องกำบัง เพื่อหลีกเลี่ยงภาษากายของคู่สนทนาด้วยกัน

ผลข้างเคียงของการติดโทรศัพท์

  • สร้างความรู้สึกโดดเดี่ยวและหดหู่ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่ติด Social เพราะมันจะทำให้พวกเขาเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตกับคนอื่นๆ 
  • เกิดความวิตกกังวล นักวิจัยพบว่า การมีโทรศัพท์ในที่ทำงาน ส่งผลให้พนักงานมีความกังวลเพิ่มขึ้น และลดประสิทธิภาพของงานที่ทำ
  • ความเครียดเพิ่มขึ้น เพราะขาดความเป็นส่วนตัว รู้สึกเหมือนว่ามีแรงกดดันจากงานอยู่เสมอ เหมือนเพื่อนๆ ไม่เคยวางมือจากมันแม้ในวันหยุด ต้องคอยตรวจสอบ email และไลน์ จากเจ้านายหรือลูกค้า ทำให้เกิดความเครียดสะสมและเริ่มเบื่อหน่ายกับชีวิต
  • สมาธิสั้นลง ด้วยข้อมูลจำนวนมากที่ไหลเข้ามาตลอด 24 ชม. ทั้งฟีตข่าว การแจ้งเตือน ข้อมูลส่วนลด ฯลฯ หากปราศจากการควบคุมที่ดี เพื่อนๆ จะหลุดโฟกัสบ่อย ไม่สามารถมีสมาธิกับใดสิ่งหนึ่งสิ่งหนึ่งได้เป็นระยะเวลานาน
  • การนึกคิดและจินตนาการลดลง เพราะเสียงแจ้งเตือนของโทรศัพท์ จะเบี่ยงเบนความสนใจของเพื่อนๆ จากงานที่สำคัญ ทั้งยังชะลอและรบกวนความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ
  • นอนหลับไม่เต็มอิ่ม ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการมีสุขภาพที่ดี ส่งผลกระทบต่อความจำ ความคิดเชิงเหตุผล และการเรียนรู้
  • คนรอบตัวเริ่มตีตัวออกห่าง ผลการศึกษาจากประเทศอังกฤษพบว่า เพื่อนๆ ที่ชอบเล่น social media เป็นประจำ มักมีพฤติกรรมทางลบ ชอบระบายเรื่องของตัวเองให้คนอื่นๆ บนอินเตอร์เน็ตฟัง ทำให้ไม่มีใครอยากเข้าใกล้

อาการเสพติดโทรศัพท์

อาการติดมือถือนี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเลขหรือความถี่ในการใช้โทรศัพท์ แต่มันจะเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อ Smartphone เข้ามาส่งผลกระทบต่องาน หรือความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ซึ่งถ้าเพื่อนๆ พบว่า ตัวเองเริ่มเฉยชากับพ่อ-แม่ นัดไปไหนก็ไม่ยอมออก ต้องหยิบมือถือขึ้นมาคอยอัพเดทตอนกินข้าวและขับรถ ก็ถือเป็นสัญญาณเบื้องต้น ที่เพื่อนๆ ต้องกลับมาเช็คตัวเองแล้ว

สัญญาณเตือนของอาการ ติดโทรศัพท์

  • ทำงานไม่เสร็จภายในเวลาหรือช้ากว่ากำหนดการ โดยเฉพาะงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ที่ไมต้องใช้ความสามารถเยอะ เช่น ล้างจาน หรือรีดผ้า เพราะมัวแต่วุ่นอยู่กับโทรศัพท์
  • ออกห่างจากครอบครัวและเพื่อน ใช้เวลาอยู่กับมือถือเป็นส่วนใหญ่ (รวมถึงแท็บเล็ต ฯลฯ) จนรู้สึกว่าในชีวิตจริงไม่มีใครให้ปรึกษา หลุด Focus กับบทสนทนาของคนรอบตัวอยู่บ่อยๆ แฟนเชื่อว่าเราแอบมีใครคุยอยู่บนโลกออนไลน์
  • ปกปิดการใช้โทรศัพท์ ไม่อยากให้ใครเห็นเวลาเล่นอินเตอร์เน็ต โกหกคนอื่นๆ ถึงเวลาการใช้งาน หงุดหงิดทุกครั้งถ้ามีคนเข้ามาเตือนหรือขัดจังหวะการใช้งาน
  • กลัวว่าจะพลาดข้อมูลสำคัญ รู้สึกตะหงิดๆ ถ้าไม่ได้หยิบมือถือขึ้นมาเช็คฟีตข้อมูล อยากรู้เสมอว่าชีวิตของคนอื่นเป็นอย่างไร ยอมลงทุนนอนดึกเพื่อให้ได้รู้สถานะของเพื่อนๆ
  • กังวล หงุดหงิด เครียด โลกเหมือนจะแตกถ้าลืมโทรศัพท์ทิ้งไว้ที่บ้าน แม้กระทั่งกับตอนที่แบตฯ ใกล้จะหมดหรือระบบขัดข้อง รู้สึกเหมือนมีข้อความเข้าทั่งที่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น 

อาการถอนโทรศัพท์

ผลกระทบข้างเคียงเมื่อเพื่อนๆ เริ่มพยายามละจากอินเตอร์เน็ตและมือถือ 

  • ร้อนรน
  • โกรธ หงุดหงิด
  • ไม่มีสมาธิ
  • นอนไม่หลับ หลับไม่เต็มอิ่ม
  • อยากหยิบโทรศัพท์หรืออุปกรณ์อื่นๆ ขึ้นมาแทน

วิธีแก้อาการติดโทรศัพท์ 


การจัดการกับปัญหาติดมือถือนั้น ค่อนข้างมีหลายวิธี ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานไปถึงระดับแอดวานซ์อย่างการหักดิบเอาเสียดื้อๆ ซึ่งถ้าเพื่อนๆ สามารถเลือกวิธีการที่เหมาะกับตัวเอง การจะจัดการก็ง่าย เหมือนปลอกกล้วย

แต่ก่อนที่จะไปเริ่มแก้ไขปัญหา เพื่อนๆ ควรรู้ก่อนว่าอาการที่เป็นอยู่ ใหญ่-เล็กขนาดไหน ด้วยการใช้ฟีเจอร์บนอุปกรณ์ หรือ Apps เป็นตัวช่วยในการบอกข้อมูลบน Smartphone เพราะยิ่งเรารู้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองเยอะ การวางแผนควบคุมพฤติกรรมก็จะยิ่งง่าย การใช้โทรศัพท์จึงเป็นเรื่องสบายๆ 

4 steps พื้นฐานก่อนเริ่มควบคุมพฤติกรรม

  1. จัดอารมณ์ความรู้สึก เพื่อนๆ ต้องรู้ก่อนว่า อารมณ์แบบไหนจะทำให้เราหยิบมือถือขึ้นมาใช้ ตอนหิว เหงา เซง ฯลฯ และทุกๆ เริ่มมีสัญญาณปรากฏ ให้เพื่อนๆ ลองหาวิธีในการผ่อนคลายในแบบของตัวเอง (ที่ไม่ใช่การเล่นโทรศัพท์นะจ๊ะ)
  2. เข้าใจธรรมชาติของโลกแห่งความเป็นจริง ที่การเจอกันแบบตัวต่อตัวยังเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนอกจากคำพูด มันยังประกอบไปด้วยภาษากาย เช่น การจ้องตา รอยยิ้ม ซึ่งก่อให้ความไว้วางใจระหว่างกัน คนฟังก็รู้สึกปลอดภัย คนพูดก็ผ่อนคลาย พวกเราต่างเข้าใจความรู้สึกระหว่างกัน ตรงกันข้ามกับโลกเสมือน ซึ่งจะปราศจากเรื่องเหล่านี้  
  3. สร้างทักษะในการจัดการปัญหา แม้ว่าการเลือกส่งข้อความทางโทรศัพท์ จะเป็นทางออกที่ดีสำหรับการจัดการอารมณ์โกรธ ไม่พอใจ แต่การแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้บ่อยๆ จะทำให้ยิ่งทำให้เพื่อนๆ ติดมือถือมากกว่าเดิม 
  4. หาใครสักคนที่คอยช่วยสนับสนุน (Strengthen your support network.) เพราะบางครั้ง การทำอะไรที่ฝืนตัวเองมากๆ ด้วยตัวคนเดียว ก็เป็นเรื่องยาก ดังนั้นจึงควรหาเวลา ออกไปเติมพลังใจกับเพื่อนฟูง หรือคนในครอบครัวที่สนับสนุนเรา

ไม่ยากเลยใช่ไหม๊ กับ 4 ข้อในเบื้องต้น ที่เพื่อนๆ สามารถเริ่มต้นทำได้เลยวันนี้!! ส่วนต่อจากนี้ไป ก็จะเป็นทริกเล็กๆ น้อยๆ สำหรับการจัดการกับโทรศัพท์เจ้าปัญหาาาา

จัดการกับโทรศัพท์ ลดอาการติดมือถือ

ในทางปฏิบัติ แน่นอนว่าการที่เพื่อนๆ จะเลิกอาการเสพติด Smartphone ไปเลย โดยไม่เข้าไปยุ่งกับมันอีกคงเป็นไปไม่ได้ (และไม่คิดจะทำ) เพราะการอดใจในครั้งนี้ ไม่เหมือนกับการอดใจกินพิซซ่าก่อนนอนขณะที่ลดน้ำหนัก โทรศัพท์ยังจำเป็นต่อหน้าที่การงาน ลองนึกภาพเลขาที่ไม่เปิดไลน์ ไม่รับสายจากเจ้านาย บริษิทคงปวดหัวตาย ไหนจะเป็นงานที่ต้องติดต่อกับลูกค้า มีแฟนที่ต้องคุย ไปจนถึงบิลต่างๆ ที่ต้องจ่ายในช่วงสิ้นเดือน 

ดังนั้นคำถามที่ถูกต้องสำหรับเพื่อนๆ คือ มีวิธีการอย่างไรบ้าง ที่ทำให้การใช้โทรศัพท์ ไม่ส่งผลต่อการงานและความสัมพันธ์กับคนรอบตัว

  1. ตั้งเวลาที่แน่นอนในการใช้ (สำหรับกรณีที่ไม่จำเป็น) เช่น หลังเลิกงาน 1-2 ชั่วโมง หรือเป็นการกำหนดเงื่อนไขเล็กๆ น้อยๆ ให้เล่นได้เฉพาะหลังทำการบ้านที่อาจารย์ให้มาเสร็จ
  2. ปิดโทรศัพท์ในเวลาที่กำหนด (อย่างน้อยๆ ก็ปิดแจ้งเตือนไว้) เช่น ช่วงเวลาที่อยู่กับเพื่อนๆ บนโต๊ะอาหาร (แอดหมายถึงกินข้าวนะ ไม่ได้ไปนั่งคุยกันบนโต๊ะ) เล่นสนุกกับหลานๆ เข้ายิม ฯลฯ 
  3. วางโทรศัพท์ไว้ห่างๆ จากตัวเมื่อจะเข้านอน เพราะคลื่นแม่เหล็กและแสงสีฟ้าจากหน้าจอ จะเข้าไปรบกวนร่างกายของเพื่อนๆ ทำให้คืนนั้นหลับไม่สนิท แนะนำว่าถ้าจะอ่าน e-book หรือจะชาร์จไฟ ก็ควรทำไว้ล่วงหน้า
  4. หากิจกรรมอื่นๆทำ(ย้ำว่า…ที่ดีต่อสุขภาพ) แทนการเล่นมือถือ ไม่ว่าจะเป็น อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ เตะบอล ดูประการัง อะไรก็ได้ร้อยแปดพันเก่า ที่จะช่วยให้เพื่อนๆ คลายเหงา
  5. ลบ social media แอปฯ ออกจากเครื่องทั้งหมด!! (อันนี้ออกจะฮาร์ดคอร์หน่อย) แต่ไม่ได้หมายความว่าจะอดเล่น Facbook Twitterไปตลอดชีวิตนะ แค่จะเล่นได้เล่นก็ต่อเมื่อ Log In บน Pc หรือ Notebook เท่านั้น
  6. จำกัดความถี่ในการใช้งาน หากใครเป็นคนที่ชอบหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาสำรวจคะแนนความนิยมบ่อยๆ วิธีนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีของเพื่อนๆ โดยให้ลองเว้นระยะการใช้งานเพิ่มมากขึ้นทีละเล็กน้อย จนกระทั่งหมดปัญหามือตืดมือถือ
  7. ยอมรับที่จะต้องตกเทรนด์บ้าง อันนี้ก็ตรงไปตรงมา เนื่องจากโทรศัพท์ในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นเพียงอุปกรณ์สำหรับโทรเข้า-ออก แต่ยังเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดี สำหรับติดตามข่าวสารและสถานะของคนรอบตัว เพื่อนเรากำลังคบกับใคร ดาราคู่ไหนใกล้จะเลิกกัน เรียกได้ว่า มี Smartphone เครื่องเดียวก็รู้ครอบจักรวาล ดังนั้น เมื่อเพื่อนๆ คิดจะเลิกติดมือถือ ก็เท่ากับว่าจะต้องยอมเลิกรับข่าวสารบางประเภท

ให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นตัวช่วย

ส่วนเพื่อนๆ คนไหน ที่จัดการกับอาการติดโทรศัพท์ไม่ได้ด้วยตัวคนเดียว (พยายามมาทุกทางแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จ) การไปขอคำปรึกษาจากแพทย์ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ แก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว มี option ทั้งแบบตัวต่อตัว คู่และกลุ่มหลายๆ คน เช่น

  • Cognitive-behavioral therapy การรักษาแขนงนี้ จะค่อยๆ ทำให้เราเข้าใจภาวะอารมณ์และความคิดของตัวเอง รู้ที่มาที่ไปของอาการผิดปกติ จนเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้
  • Marriage or couples counseling. เป็นการให้คำปรึกษาในกลุ่มคู่รัก ที่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งติดสื่อลามก หรือมีความสัมพันธ์เกินเพื่อนกับคนบนโลกออนไลน์ (อารมณ์คนคุยเล่นอะไรประมาณนี้) ซึ่งจะช่วยให้ความสัมพันธ์กลับมาเป็นเหมือนเดิม

ป้องกันน้องๆ ให้ออกห่างจากอาการ ติดโทรศัพท์


บ้านไหนที่มีน้องๆ ตัวเล็ก หรือกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ โทรศัพท์ถือเป็นหัวใจสำคัญ ที่อาจเปลี่ยนอนาคตของพวกเขาไปตลอด ดังนั้นการวางแผนตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นทางออกที่ดีกว่า ไม่ต้องมานั่งเสียเวลา พลังงาน และเงิน 

ดังนั้นเพื่อนๆ ที่มีน้องๆ อยู่ในครอบครัว จึงต้องวางแผนและเตรียมตัวให้ดีดังนี้…..

  • เป็นต้นแบบที่ดีในการใช้โทรศัพท์ เพราะเด็กๆ จะเลือกเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ปกครอง ยิ่งเพื่อนๆ มีการใช้มือถือที่ดีเท่าไร โอกาสที่น้องๆ จะมีอาการติดโทรศัพย์ก็ยิ่งน้อยลงเท่านั้น ตรงกันข้าม แม้ว่าเพื่อนๆ จะบอกให้เขาหยุดเล่นเมื่อนั่งรวมกันอยู่บนโต๊ะอาหาร แต่ตัวเองกลับตอบอีเมลเจ้านายแบบหน้าตาเฉย ในอนาคตน้องๆ ก็จะแสดงพฤติกรรมแบบเดียวกันนี้ออกมาเมื่อคุณไม่อยู่
  • ช้แอปฯ ในการตรวจสอบและจำกัดเวลาในการเล่น ไม่ต้องไปหาที่ไหนไกล เพราะในปัจจุบัน Smartphone เกือบทุกค่าย  มีโปรแกรมเหล่านี้ติดมากับตัวเครื่องอยู่แล้ว เพียงแค่ไปเรียนวิธีใช้นิดหน่อย ก็สามารถจัดการกับปัญหาแบบผิดที่ผิดเวลา
  • กำหนดพื้นที่ส่วนกลางในการใช้มือถือ เพื่อให้เรามั่นใจว่า พวกเขาจะไม่ใช้มันในทางที่ผิด สามารถจับตาดูและให้คำแนะนำได้ตลอดเวลา
  • ผลักดันให้น้องๆ ออกทำกิจกรรม จะเป็นอะไรก็ได้ที่เหมาะกับวัยของพวกเขา (กิจกรรมที่ดีไม่จำเป็นต้องใช้เงินเสมอไป) อย่าให้พวกเขา อยู่ติดกับหน้าจอโทรศัพท์นานๆ
  • ถ้าวิธีการข้างต้นยังใช้ไม่ได้ผล แนะนำว่า ให้ลองพูดคุยกับน้องๆ เพราะไม่แน่ว่าต้นตอของปัญหาติดโทรศัพท์ อาจมาจากเรื่องใกล้ตัวอย่างปัญหาครอบครัว หรือโดนเพื่อนในชั้นแกล้ง
  • ขอความช่วยเหลือจากคนอื่น เพราะน้องๆ วัยรุ่น มักมีอาการต่อต้านผู้ปกครองเป็นธรรมดา (ใครไม่เจอก็คิดว่าถูกหวยชุดใหญ่) แต่ท่าทีของพวกเขาจะเปลี่ยนไป เมื่อได้ยินเรื่องเดียวกันจากปากของคนอื่นๆ ดังนั้นจึงอย่ากลัวที่จะไปขอให้อาจารย์ คุณหมอ หรือเพื่อนสนิทเป็นคนช่วยเกลี้ยกล่อมให้

จบกันไปแล้วกับปัญหามือติดโทรศัพท์ เพื่อนๆ คนไหนที่มีญาติหรือแฟนเข้าข่ายกลุ่มอาการเหล่านี้ ก็อย่าลืมช่วยเป็นกำลังใจให้พวกเขา ส่วนใครที่มีน้องๆ ตัวน้อยๆ อยู่ด้วยกัน ก็ต้องเป็นต้นแบบที่ดี ในเรื่องของการใช้มือถือ!!!

แหล่งที่มา :  https://www.helpguide.org/articles/addictions/smartphone-addiction.htm 

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here